LAW & REGULATIONS

กฏและข้อบังคับสำหรับการโฆษณา

Law & Regulations


แนวทางการโฆษณาโดยไม่ระบุแบรนด์ UNBRAND ADVERTISING

     ตามที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ได้มีจดหมายเรื่องการโฆษณาโดยไม่ระบุแบรนด์ (UNBRAND ADVERTISING) แจ้งถึงสมาชิกถึงผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณาว่า การโฆษณาที่มีลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความพยายามที่จะสร้างให้ประชาชนเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และขัด หรือเลี่ยงต่อกฎหมายด้วยเจตนา อันเป็นการปฏิบัติละเมิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา ข้อ 5 และได้แจ้งให้สมาชิกทราบว่าการอนุญาตให้ออกอากาศ หรือ เผยแพร่เป็นสิทธิของทางเจ้าของสื่อต่างๆ ที่อาจมีวิจารณญาณแตกต่างกันไปนั้น

 

     ต่อมา คณะทำงานโครงการบูรณาการเพื่อควบคุมการโฆษณาอาหารให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนจากคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ผู้แทนจากคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ผู้แทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ฯลฯ  ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นการโฆษณาดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 และ 24 กุมภาพันธ์ 2554 และมีข้อสรุปที่สมาชิกควรได้รับทราบ เกี่ยวกับการโฆษณา unbrand สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนี้

 

     1.   โฆษณา unbrand ต้องไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของผลิตภัณฑ์ใดโดยเฉพาะ จึงต้องไม่แสดงสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ หรือของบริษัท หรือของสถาบันที่เชื่อมโยงได้ถึงผลิตภัณฑ์ ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเผยแพร่โดยองค์กรสภาสมาคม ซึ่งจะได้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในภาพรวมทั้งหมด


     2.   ไม่ควรมีการโฆษณา unbrand เนื่องจากการโฆษณาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงประโยชน์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารใดโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ทางการค้าและจะมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารประกอบในท้ายที่สุด ดังนั้นถ้าประสงค์ที่จะทำการโฆษณา ให้นำโฆษณาทั้งในส่วนที่เป็น unbrand และโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารไปทำการขออนุญาตพร้อมกัน

 

     3.   หากเป็นการโฆษณาที่มีการแสดงประโยชน์นอกเหนือจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนดไว้ ต้องมีการนำข้อมูลวิชาการที่อ้างอิงประโยชน์สรรพคุณนั้น ให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกพิจารณา และควรให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งนี้การพิจารณาอาจจะใช้เวลามากกว่า 10 วัน ตามขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตโฆษณาปกติ


     สมาชิกพึงเข้าใจว่าข้อสรุปแนวปฏิบัติข้างต้น ใช้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์จะพิจารณาใบอนุญาตโฆษณาจากทาง อ.ย. ประกอบการพิจารณาตามปกติด้วย
 
     ส่วนโฆษณา unbrand สำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ สมาคมฯ ยังคงยืนยันแนววินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณาให้สมาชิกหลีกเลี่ยงการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเช่นเดิม
 
 
     อนึ่ง สมาคมโฆษณาฯขอแจ้งให้สมาชิกทราบว่า เอกสารประกอบการขออนุญาตที่เป็นสคริปท์และสตอรี่บอร์ด ขอให้แสดงภาพพร้อมข้อความอธิบายภาพและข้อความโฆษณาอย่างชัดเจน สำหรับภาพยนตร์โฆษณาความยาว 15 วิ. ควรมีการแสดงจำนวนเฟรมไม่น้อยกว่า 10 เฟรม เป็นต้น ต่อไปนี้  ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะไม่รับพิจารณาสคริปท์และสตอรี่บอร์ดที่ไม่ชัดเจน เพราะยากต่อการพิจารณาอนุญาต

(ข้อมูลเพิ่มเติม : จดหมายจากสมาคมโฆษณาฯ แจ้งแนวทางการโฆษณา UNBRAND คลิกดาวโหลดด้านล่าง)

ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม