LAW & REGULATIONS

กฏและข้อบังคับสำหรับการโฆษณา

Law & Regulations


แนวปฏิบัติด้านการโฆษณาสินค้าสำหรับเด็ก

โดยที่จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา ได้บัญญัติไว้ในข้อที่ 10 เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กและผู้เยาว์ ความว่า
 

     “ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันอาจมีผลเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือผู้เยาว์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือทำให้ขาดความรู้สึกผิดชอบ หรือโดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจโดยไม่สมควร”

     ดังนั้น เพื่อให้สมาชิกมีแนวทางการโฆษณาที่ชัดเจนขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ความห่วงใยของประชาสังคมที่มีต่ออิทธิพลของการโฆษณาที่อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและทัศนคติของเด็ก และผู้เยาว์  สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดแนวทางการโฆษณาสินค้าสำหรับเด็กนี้ขึ้น โดยมีความเข้าใจเป็นที่ตกลงในเบื้องต้นว่า

1. เด็ก หมายถึงเด็กและผู้เยาว์ หรือบุคคลที่มีอายุระหว่าง 0-12 ปี โดยเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ว่าเป็นเส้นแบ่งของวุฒิภาวะความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่


2. ผู้โฆษณาจะต้องระลึกอยู่เสมอถึงระดับความรู้ ประสบการณ์ และวุฒิภาวะของเด็กว่าเป็นกลุ่มที่มีความสามารถอย่างจำกัดในการประเมินความน่าเชื่อถือของการโฆษณา ผู้โฆษณาจึงต้องมีภาระความรับผิดชอบเป็นพิเศษในการปกป้องเด็กจากความคลุมเครือทั้งมวล


3. ด้วยตระหนักในจินตนาการอันไร้ขอบเขตของเด็ก  ผู้โฆษณาจะต้องระมัดระวังที่จะไม่แสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมด้วยการโฆษณาสร้างความคาดหวังอย่างไร้เหตุผลกับเด็ก


4. ผู้โฆษณาจะต้องตระหนักว่าเด็กเป็นวัยที่อาจเลียนแบบโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กได้


5. แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามีปัจจัยหลายประการที่จะมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมพฤติกรรมและทัศนคติของเด็ก  อย่างไรก็ตาม สถาบันครอบครัวควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก และต้องรับผิดชอบในการให้คำแนะนำ และแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง สมาชิกจะทำการส่งเสริมความสัมพันธ์นี้อย่างสร้างสรรค์

แนวปฎิบัติด้านการโฆษณาสินค้าประเภทอาหารและขนมขบเคี้ยวที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก


     จากความเข้าใจและข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการโฆษณาสินค้าสำหรับเด็ก 5 ข้อ  สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้กำหนดแนวทางการโฆษณาสินค้าประเภทอาหารและขนมขบเคี้ยวที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนี้ขึ้น เพื่อให้สมาชิกมีแนวทางการโฆษณาที่ชัดเจนขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ความห่วงใยของประชาสังคมที่มีต่ออิทธิพลของการโฆษณาที่อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและทัศนคติของเด็ก และผู้เยาว์ ดังนี้

1. ต้องแสดงปริมาณสินค้าในโฆษณาอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ในโฆษณา โดยไม่สื่อสารทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมให้เกิดการบริโภคสินค้าที่โฆษณานั้นเกินพอดี


2. การโฆษณาจะต้องสื่อสารอย่างชัดเจนว่าเป็นขนมขบเคี้ยวและไม่สื่อสารให้เข้าใจว่าสามารถบริโภคแทนอาหารประจำวันได้


3. ไม่ควรทำการโฆษณาโดยมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก 


4. ควรกระทำการโฆษณาโดยพยายามให้มีเนื้อหาเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพ ความปรองดอง ความสุภาพ ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย และการให้เกียรติผู้อื่น เป็นต้น


5. โฆษณาต้องไม่จูงใจในลักษณะที่ชี้นำให้เด็กรบเร้าให้พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อสินค้าที่โฆษณาให้ กับเด็ก


6. โฆษณาต้องไม่ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ซื้อสินค้าที่โฆษณาเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดีกว่า ฉลาดกว่า หรือ ใจดีกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ยอมซื้อสินค้านั้น ๆ ให้


7. การโฆษณาที่มีการใช้ดารา นักร้อง นักแสดงมาเป็นตัวแสดง ดารา นักร้อง นักแสดงนั้นจะต้องเคยบริโภคสินค้าที่โฆษณานั้นมาก่อนและยังบริโภคอยู่ในขณะที่ยังมีการเผยแพร่โฆษณานั้นอยู่  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงแนวปฏิบัติข้อ 1-6 อย่างเคร่งครัด


8. การโฆษณาประเภทส่งเสริมการขาย (Sales Promotion)  ต้องคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของเด็ก และต้องไม่เป็นเนื้อหาหลักในการโฆษณา

ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม