สมาคมโฆษณายุค…เฟื่องฟู ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก…
ในปี พ.ศ. 2537 - 2539 สมัยคุณวิชัย สุภาสมบูรณ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโฆษณาฯ และ กรรมการบริหารชุดนี้ เข้ามาดูแลอยู่ 2 ปีได้ดำเนินการหลักใหญ่คือมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกันทุก ๆ เดือนพร้อมกับการประสานความสามัคคีในหมู่สมาชิกโดยมีนโยบายว่าจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกเลือกว่าเป็นค่ายเล็กค่ายใหญ่ ค่ายต่างชาติ หรือค่ายคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมการชุดนี้ได้ยึดถือมาโดยตลอด
พร้อมกับได้มีการพูดคุยพบปะสังสรรค์ในหมู่สมาชิกมีข่าวสารถึงกันทุกหมู่เหล่าโดยสม่ำเสมอเท่าเทียมกันตลอดเวลา โดยมีความคิดริเริ่มในการจัดทำสารสมาคมโฆษณาเต็มรูปแบบ 4 สีทั้งเล่ม เพื่อแจ้งข่าวคราวให้กับสมาชิกได้รับทราบความเคลื่อนไหวของสมาคมฯ ทุก ๆ 2 เดือน
ทั้งนี้ สิ่งที่สมาคมโฆษณาฯ ทุกยุคทุกสมัยได้ดำเนินการมาโดยตลอดคือในเรื่องของการที่จะยกระดับวงการโฆษณาไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยได้ไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน AdAsia ที่เรียกว่าเป็นการประชุมโฆษณาของเอเชีย ในปี พ.ศ. 2542 หรือ AdASIA‘99 ต่อจากประเทศฟิลิปปินส์ (การจัดประชุมโฆษณาในเอเชียนี้จะจัด 2 ปี 1 ครั้ง และครั้งก่อนหน้านี้ไทยได้เคยรับเป็นเจ้าภาพในปี 1986 ) จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ในการจัดโฆษณาแห่งเอเชียในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการในชุดนี้ยังได้มีการพิจารณาทดลองปรับปรุงเรื่องค่าธรรมเนียมตอบแทน (Pitching Fee) ในการเสนอแผนงานโฆษณาแข่งขันกันระหว่างเอเยนซี่ตามคำเชิญของเจ้าของสินค้าหรือบริการโดยกำหนดให้เจ้าของสินค้าหรือบริการที่ประสงค์จะสรรหาบริษัทเอเยนซี่โฆษณาที่ดีที่สุดมาร่วมงานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการ Pitch งานเบื้องต้นเป็นเงินครั้งละ 50,000 บาท ต่อ 1 บริษัท ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง
ซึ่งในสมัย คุณวิชัย ถือได้ว่าวงการอุตสาหกรรมโฆษณาไทยเจริญรุ่งเรืองสุดขีด บรรดาสมาชิกต่างยิ้มหน้าชื่นตาบานกับการเติบโตของธุรกิจ มีบริษัทเอเยนซี่โฆษณาเกิดขึ้นมากมายซึ่งตัวเลขในอุตสาหกรรมนี้สูงถึงเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี และในสมัยนี้นี่เองสมาคมฯ สามารถไถ่ถอนโฉนดที่ได้จำนองไว้กับธนาคารมาได้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 พร้อมกับได้ทำบุญเลี้ยงพระเพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีไปพร้อมกันด้วย…
แต่เป็นที่น่าตกใจที่สุดสำหรับวงการโฆษณาไทยในวาระปี พ.ศ. 2539 - 2541 เมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ภายใต้การดำเนินการของ คุณวิเชียร ลินจงสุบงกช และคณะกรรมการบริหารได้เข้ามารับหน้าที่บริการสมาคมฯ ไม่นานเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดวิกฤติโดยเฉพาะเอเชีย ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมารวมถึงประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุก ๆ อุตสาหกรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโฆษณาไทยที่เรียกได้ว่าแข็งแกร่งมากก็หนีไม่พ้นพิษเศรษฐกิจนี้ ทุกคนเกิดการตื่นตระหนกเพราะต่างคนต่างเผชิญหน้ากับปัญหาการผกผันที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น และถือเป็นพายุลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาจนหลายคนไม่อาจต้านทานไหวส่งผลให้เกิดการปรับตัวกันขนาดใหญ่บรรดาเอเยนซี่น้อยใหญ่ต่างพากันพยุงให้ตัวเองอยู่รอด บริษัทส่วนใหญ่ ได้เน้นไปที่การตัดต้นทุนตัดค่าใช้จ่ายจึงเห็นภาพของการชะลอการลงทุน ชะลอตัวของอุตสาหกรรม มีการปลดพนักงาน การตัด เงินเดือนพนักงาน ตลอดจนมีการแข่งขันกันหาลูกค้าใหม่ ๆอย่างเอาเป็นเอาตายโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง เรียกว่าการโฆษณาไทยก้าวสู่ยุคฟองสบู่แตกอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
ทำให้บริษัทเอเยนซี่โฆษณาหลายรายต้องปิดตัวเองลงและหลงเหลือไว้เฉพาะชื่อและผู้ที่กล้าแข็งที่สุดพร้อม ๆ กับมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันเป็นจำนวนมากบ้างก็บีบตัวเองให้เล็กลงอย่างมาก เรียกได้ว่าหลังจากพายุเศรษฐกิจพัดผ่านทำให้วงการโฆษณาไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากทีเดียวเหมือนแพแตก สมาคมโฆษณาฯ ทำได้เพียงพยายามประคับประคองบรรดาสมาชิกไม่ให้ต้องล้มหายกันไปเท่านั้น …