สมาคมโฆษณาฯ ภายใต้การบริหารของคนรุ่นใหม่ล้มลุกและก้าวหน้าของธุรกิจโฆษณา
ถึงแม้ว่าธุรกิจโฆษณาจะก้าวหน้าต่อไปแต่ก็ต้องก้าวไปพร้อมกับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังที่เป็นมาในช่วงต้นทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2528 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจของไทยดิ่งลงต่ำอย่างหนักจนน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ปี พ.ศ. 2527 ธุรกิจโฆษณาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงกับบริษัทโฆษณาบางบริษัทต้องปิดตัวเองลง บางบริษัทต้องลดจำนวนพนักงานหรือบางบริษัทลดเงินเดือน หรือจำใจต้องปลดพนักงานออกบางส่วนเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่ก็มีบริษัทโฆษณาระดับยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยบางบริษัทยอมแบกรับภาระทั้งหมดไว้เพื่อรออนาคตอันสดใสในวันข้างหน้า
วิกฤตการณ์นี้ ได้ดำเนินติดต่อกันมาประมาณ 3 ปี เศรษฐกิจของไทยจึงกระเตื้องขึ้น ละในจังหวะนี้เองบริษัทโฆษณาระดับยักษ์ใหญ่ต่างก็จ้องมาเปิดบริการและหาผู้ลงทุนร่วมกับบริษัทโฆษณาของคนไทย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า …
1. เสถียรภาพของรัฐบาลยังให้ความอบอุ่นแก่ผู้ลงทุนได้ดีอยู่
2. ไทยมีความเป็นประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
3. เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในประเทศแถบอาเซียนด้วยกันแล้วถือว่าประเทศไทยยังมีความมั่นคงกว่า
4. บริษัทโฆษณาระดับใหญ่มุ่งขยายเครือข่ายไปทั่วโลกเพื่อรองรับในด้านบริการ
5. ลูกค้าระดับอินเตอร์เริ่มมาเปิดกิจการในเมืองไทย บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่จึงจำต้องตามมาให้บริการ
6. การเพิ่มจำนวนประชากรของไทยก่อให้เกิดปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้น
7. เป็นการร่วมลงทุนกับผู้มีประสบการณ์และยังสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่บริษัท
8. การทำงานเป็นทีมเวิร์คของเครือข่ายเอเชีย-แปซิฟิกและเครือข่ายทั่วโลกคล่องตัวขึ้น และ
9. คนไทยมีประสบการณ์มากพอที่จะร่วมทุนกับบริษัทโฆษณาต่างประเทศได้แล้ว
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของโลกจึงได้มาเปิดกิจการธุรกิจโฆษณาในเมืองไทยกันอย่างคับคั่ง
บ้างก็เปิดดำเนินการเอง บ้างก็ร่วมทุนกับบริษัทคนไทย เช่น บริษัท เจวอลเตอร์ธอมสัน, บริษัท ดีดีบีนีดแฮล์มเวิลด์ไวด์, บริษัท ซินเนอยี่โตคิวดีเอ็มบีแอนด์บี, บริษัทซาทชิแอนด์ซาทชิ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง, บริษัท เกรย์ (ประเทศไทย), บริษัท ซีวีทีแอนด์เบอร์เซีย, บริษัทดามาสค์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง, บริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) และในขณะเดียวกัน บริษัทโฆษณาของคนไทยก็เริ่มก่อตั้งกันมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
เมื่อรวมบริษัทโฆษณา ตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงขณะนั้น (ประมาณปี พ.ศ. 2534) มีบริษัทโฆษณาอยู่ประมาณ 125 บริษัท และแน่นอนการแข่งขันย่อมจะต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา สำหรับสมาคมฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับบางข้อ เช่น การให้กรรมการอยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 2 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปฏิบัติภาระหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องและให้ได้ผลมากที่สุด ดังนั้นการบริหารงานโดยคนรุ่นใหม่จึงเริ่มขึ้นโดยนายกสมาคมฯ ที่ดำรงตำแหน่งในสมัยนั้นและมีวาระที่ได้กำหนดให้คราวละ 2 ปี คือ
1. คุณสุภัท ตันสถิติกร
2. คุณวินิจ สุรพงษ์ชัย
3. คุณเจียม ลิ้มสดใส
4. คุณประสาน โอสถานนท์
5. คุณยุพน ธรรมศรี (ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ตั้งแต่ พ.ศ. 2533-2537)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2525 - 2529 ในสมัยที่คุณสุภัท และ คุณวินิจ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ อยู่นั้น เป็นอีกช่วงหนึ่งที่สมาคมฯ ต้องทำงานกันอย่างหนักเพราะต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมโฆษณาแห่งเอเชียครั้งที่ 15 ให้ได้ และจากการร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย เช่น การบินไทย และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทางสมาคมฯ ได้ส่งผู้แทนไปร่วมเสนอการแข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโฆษณาแห่งเอเชียครั้งที่ 15 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในวันที่ 1 ตุลาคม 2525
โดยการนำทีมของคุณสุภัท ตันสถิติกร นายกสมาคมฯ ในสมัยนั้น ซึ่งขณะนั้นทางประเทศอินเดียเป็นเจ้าภาพประชุม โฆษณาแห่งเอเชียครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2525 และในที่สุดประเทศไทยก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานอีกครั้งหนึ่งซึ่งทิ้งห่างจากการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกถึง 14 ปี
หลังจากนั้นมาสมาคมฯ ได้จัดงานการประชุมโฆษณาแห่งเอเชียครั้งที่ 15 (15th Asian Advertising Congress) ในวันที่ 7 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดยมี คุณวินิจ สุรพงษ์ชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโฆษณาฯ ในสมัยนั้น ณ บางกอกคอนเวนชั่น โรงแรมไฮเอท เซ็นทรัลพลาซ่า
นับได้ว่าการจัดงานในครั้งนั้น เป็นเสมือนพลุนำแสงสว่างมาสู่ธุรกิจโฆษณาไทยอีกวาระหนึ่งที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าการประชุมโฆษณาของโลก คณะกรรมการของสมาคมฯ ทุกคนต่างทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลและภาคเอกชนจนทำให้งานประชุมโฆษณาแห่งเอเชีย ครั้งที่ 15 ประสพผลสำเร็จอย่างงดงามที่สุดคือมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าประชุมเกือบ 800 คน
บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้หลายคนไม่เคยมาเมืองไทยเลยแต่พอมาถึงต่างก็กล่าวชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นับว่าเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่เมืองไทยก่อให้เกิดความใกล้ชิดกับหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโฆษณา
อีกทั้งผู้ที่เข้าร่วมประชุมยังได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของวงการโฆษณาทั่วโลกทำให้โลกทัศน์ของนักโฆษณาไทยกว้างขวางขึ้น และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ ในการประชุมโฆษณาแห่งเอเชียครั้งที่ 15 นี้ ผู้บริการระดับสูง ของบริษัท โฆษณาชั้นนำ ของโลกต่างให้ความสนใจ และตอบรับเชิญมาเป็นผู้บรรยาย ในหัวข้อต่าง ๆ อย่าง ไม่เคยปรากฎมาก่อน จนถึงผู้เข้าร่วมประชุมบางท่าน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้น่าจะเป็นการประชุมโฆษณาของโลกมากกว่า…
ทั้งนี้ผู้บริการระดับสูงของบริษัทโฆษณาชั้นนำของโลกที่ได้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ คือ
Mr. Allen Rosenshine
(President/CEO, BBDO Inc. U.S.A.)
Mr. Geoffry Cousins
(Chairman/CEO, George Patterson Pty Ltd. Australia)
Mr. Burt Manning
(Chairman/CEO, J. Walter Thompson, U.S.A.)
Mr. William V. Weithan
(Chairman/CEO, SSC&B Lintas WorldWide, U.S.A.)
นอกจากชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทยและความเจริญรุดหน้าของธุรกิจโฆษณาที่ได้บังเกิดขึ้นก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมที่สมาคมฯ สามารถทำรายได้จากการประชุมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะหาที่ตั้งสมาคมฯ เป็นของตัวเองได้จึงต้องย้ายที่ทำการอยู่ต่อไปหลังจากที่เคยได้รับความกรุณาให้ไปอยู่ที่ส่วนหนึ่งของ อาคารฟาร์อีสท์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่ชั้นเดียวกับ บริษัทลีโอเบอร์เนทท์ แล้วย้ายต่อมาที่อาคารคุ้มครองสัตว์ป่า เชิง สะพานลอย อโศก จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่อาคารของ บริษัทโคคาโคล่า เอ็กซ์ปอร์ต ที่เช่าไว้ในซอย สุขุมวิท 1 โดยให้ สมาคมฯ อยู่ฟรีมิได้คิดค่าเช่าแต่ประการใด…
อย่างไรก็ตาม งานของสมาคมฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แม้กระทั่งในสมัยของคุณเจียม ลิ้มสดใส และ สมัยของ คุณประสาน โอสถานนท์ ซึ่งได้มีการกระชับมิตรอย่างแนบแน่นกับองค์กรของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโฆษณาโดยตรง เช่น
กบว. หรือ คณะกรรมการบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ กกช.)
คคบ. หรือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ปัจจุบัน คือ สคบ.)
อย. หรือ คณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้ ยังเป็นแกนกลางในการปรึกษาหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรให้กับเอเยนซี่ต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีทำให้ปัญหาในเรื่องภาษีโฆษณาได้คลี่คลายไปในทางที่ดี
ภารกิจอันสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ คณะกรรมการของสมาคมฯ ได้ผลักดันให้มีการซื้ออาคารเป็นสำนักงานถาวรของสมาคมฯ แต่ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าสมาคมฯ ยังไม่พร้อมในเรื่องการเงินจึงต้องพักเรื่องนี้ไว้ก่อนจวบจนมาถึงสมัย คุณยุพน ธรรมศรี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537 (2 วาระ) ก็ได้รับนโยบายสืบต่อมาจากนายกฯ คนก่อน
ในปี พ.ศ. 2537 เป็นปีที่สมาคมฯ ครบรอบ 28 ปี แห่งการก่อตั้งและเป็นปีที่ธุรกิจโฆษณากำลังเดินหน้าเข้าสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้งสังเกตได้จากตัวเลขของยอดค่าใช้จ่ายในด้านสื่อโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมที่พุ่งสูงกว่า 30,000 ล้านบาท
สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยจึงมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้นจากการเก็บหอมรอมริบจากนายกสมาคมฯ คนก่อนๆ ตลอดจนการหารายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะกรรมการจึงทำให้คณะกรรมการในสมัยนี้ตัดสินใจซื้ออาคารพร้อมที่ดินเป็นจำนวนเงิน 4.1 ล้านบาทไว้เป็นสมบัติของสมาคมฯ ให้เป็นที่ทำการอย่างถาวรหลังจากต้องเร่ร่อนมาเป็นเวลา 25 ปีเต็ม โดยสมาคมโฆษณาแห่งใหม่นี้ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบันของสมาคมฯ ตั้งอยู่
เลขที่ 12/14 ถนนประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0 2591 6461-5
นอกเหนือไปจากการตัดสินใจซื้ออาคารที่เป็นที่ทำการของสมาคมฯ แล้ว คุณยุพน และ คณะกรรมการยังได้ร่วมกันจัดงาน Ad-Fusion‘91 ขึ้น ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า ในวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งนับว่า เป็นครั้งแรกของธุรกิจโฆษณาในเมืองไทยเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 25 ปี ของการก่อตั้งสมาคมฯ ด้วย
โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก Mr. Thomas G. Hart ผู้ช่วยฑูตฝ่ายวัฒนธรรมประจำสถานเอกอัครราชฑูตอเมริกัน ตลอดจนได้เชิญผู้มีประสบการณ์อันสูงส่งในวงการโฆษณาทั้งไทยและต่างประเทศมาเป็นวิทยากร และ ผู้บรรยาย ร่วมกันในหัวข้อที่น่าสนใจในเรื่องการโฆษณาอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออาชีพนี้อีกทั้งการจัดงาน Ad-Fusion‘91 ได้ก่อให้เกิดการกระตุ้นธุรกิจโฆษณาให้เจริญรุ่งเรือง รวมทั้งทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับรู้เรื่องราวของเทคโนโลยีสมัยใหม่ของธุรกิจโฆษณาไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ในช่วงปี พ.ศ. 2535-2537 สมัยของคุณยุพน ธรรมศรี ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยเป็นสมัยที่ 2 และได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจโฆษณาในประเทศไทยเติบโตขึ้น และในครั้งนี้เองที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IAA โดยได้รับการสนับสนุนจาก Mr. Norman Vale, Director General ของ IAA New York, U.S.A. โดยคุณยุพน ดำรงตำแหน่ง President for the Thailand Chapter
นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมนักธุรกิจโฆษณาและสื่อจำนวน 25 คน เดินทางไปร่วมงานการประชุมโฆษณาโลก ครั้งที่ 33 (The 33rd World Advertising Congress) ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 27 - 30 กันยายน 2535 และ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2536 ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม IAA President Asian/Pacific Meeting ครั้งแรกขึ้นที่โรงแรม The Regent Bangkok และได้มีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย