กำเนิดสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย
การเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วของวงการโฆษณาในครั้งอดีต (ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว) คือนับตั้งแต่ยุคการโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ถัดมาถึงยุคของวิทยุ และได้เจริญรุดหน้าไปเป็นอย่างมากหลังจากที่ประเทศไทยมีกิจการสถานีโทรทัศน์ในราวปี พ.ศ. 2498 เรื่อยมา จนมาถึงประมาณปี พ.ศ. 2508 แต่ทว่า การเติบโตนั้นได้สวนทางกับปัจจัยที่จะเข้ามารองรับทำให้ผู้คนในวงการฯขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เป็นเพราะการโฆษณานั้นได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศและนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเมืองของไทย
ดังที่อดีตนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยคนแรก คุณประโพธ เปาโรหิตย์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตว่า “ก่อนที่จะได้มีการจัดตั้งเป็นสมาคมโฆษณา การโฆษณาได้เกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ววงการโฆษณาก็มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้แท้ที่จริงแล้วว่า การโฆษณานี้คืออะไร แค่ไหน อย่างไร การโฆษณา ก็ถูกแบ่งออกเป็น บริษัทผู้ให้โฆษณา บริษัทรับทำการโฆษณา และบริษัท โบร๊คเกอร์ หรือตัวแทน ที่จะรับอีกทอดหนึ่งไปให้กับสื่อโฆษณาและกลุ่มต่าง ๆ หาความเข้าใจซึ่งกันและกันไม่ได้เลยยิ่งไปกว่านั้น บริษัทโฆษณาด้วยกันก็มีการทะเลาะเบาะแว้งหาทางทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้อีกฝ่ายพังไปได้ และโดยเฉพาะ บริษัทผู้ผลิตสินค้าก็พยายามทำให้คู่ต่อสู้เจ๊งไปอะไรทำนองนี้ ซึ่งมันไม่ถูกเรื่อง“
ดังนั้น ! เมื่อคนโฆษณามีโอกาสพบหน้ากัน มักจะมีเรื่องที่พูดเกี่ยวกับการโฆษณากันอยู่เสมอ ทั้งในวงรับประทานอาหารหรือบ้างก็ในวงสุรา… จนกระทั่ง ได้มีการพิจารณากันว่าทำไมถึงไม่สร้างให้วงการนี้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา
เพราะว่าความเป็นปึกแผ่นนี้จะมีการสอนและสอดแทรกให้มีจรรยาบรรณสอนให้มีความรู้ความสามารถ ในเรื่องการโฆษณา และก็สอนให้มีการร่วมมือกันเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือต้องการให้บริษัทโฆษณา นักโฆษณาที่อยู่ในวงการจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามกันไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่…
“เมื่อเรามาพิจารณาดูแล้วเห็นว่าในวงการ มีหลายกลุ่มหลายพวก มีบางพวกเหมือนกันที่พยายามสร้าง บริษัทของเขา ขึ้นมา พวกบริษัทโฆษณาก็จะรวมกันหรือพยายามรวมกันแต่รวมไม่สำเร็จ เพราะว่าพวกโบร๊คเกอร์หรือพวกคนกลาง เขากลับถูกบีบเสียเองและยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทเจ้าของสินค้าก็กลัวถูกบีบด้วยเช่นกัน แล้วทางบริษัท เจ้าของสินค้าจะรวมกันก็ไม่ได้ เพราะทางฝ่ายบริษัทโฆษณาเล็ก ๆ อาจจะไม่สนับสนุนจนตกลงหาความเข้าใจกันไม่ได้ หาข้อยุติกันไม่ได้ เป็นยังไงก็อย่างนั้นเรื่อยมา…“ คุณประโพธ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในคราวเดียวกัน
จึงทำให้คุณประโพธ และพรรคพวกในขณะนั้น ซึ่งมีคุณชลอ เทพวัลย์, คุณโสภณ โสตะระ, คุณสุเทพ สุวรรณรัต, คุณวิทย์ ว่องวทัญญู, คุณทวี กิติพงษ์โกศล และบรรดาเพื่อน ๆอีกหลายคนได้ร่วมปรึกษาหารือกัน พยายามที่จะให้บุคคลในอาชีพโฆษณาได้มารวมตัวกัน ทำความเข้าใจกันแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
รวมทั้งการให้ประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม ตลอดจนได้พยากรณ์ไว้ว่า… จากนี้ไปนับวันความเจริญเติบโตของประเทศชาติ จะดำเนินไปควบคู่กับการโฆษณาและสมาคมโฆษณา ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้อยู่ในอาชีพนี้ตลอดไป และอีกทั้งยังจะคอยเป็นแกนกลาง ช่วยประสานงานระหว่างฝ่ายภาครัฐบาลกับฝ่ายภาคเอกชนฃให้ยังเกิดผลดีแก่ธุรกิจโฆษณา
ด้วยวัตถุประสงค์หลักของวิชาชีพโฆษณาที่กำหนดขึ้นเป็นข้อ ๆ คือ
1. ต้องการผดุงเกียรติ สร้างความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันในระหว่างสมาชิก
2. แลกเปลี่ยนความรู้ในระหว่างสมาชิก ติดต่อประสานงานกับสถาบันการโฆษณาและสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ
3. เพื่อต้องการเผยแพร่คุณค่าของการโฆษณาติดต่อจัดให้มีการหารือประสานงานเพื่อประสิทธิภาพของงานโฆษณาและให้คำแนะนำทางการโฆษณาตามความต้องการของสถาบันต่าง ๆ
4. เพิ่มพูนมาตรฐานในวิชาและอาชีพโฆษณา
5. ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในวิชาชีพโฆษณาและสมาคมโฆษณาฯ ไม่เกี่ยวกับการเมือง
ทั้งนี้ ผู้ร่วมประชุมจึงมีมติให้ คุณโสภณ โสตะระ เป็นผู้เริ่มดำเนินการ ยื่นเรื่องราวต่อทางราชการ เพื่อก่อตั้งสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ต่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นอันดับแรก ซึ่งปลัดกระทรวงได้เซ็นอนุมัติให้ดำเนินการ จัดตั้งสมาคมฯ ได้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 และหลังจากนั้นได้ยื่นเรื่องที่กรมตำรวจเพื่อทำการจดทะเบียนสมาคมฯ ณ ที่ทำการกองตำรวจสันติบาล เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2509 โดยมีสำนักงานของสมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 33/1-2 ถนนสีลม ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ในขณะนั้น “เราได้คุยกันเรื่อง การจัดตั้งสมาคมฯ แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มไปจดทะเบียนกันในปี 2509 และ ระหว่างนี้ก็ได้มีการไปกินกันที่ภัตตาคารปารีสปรึกษางานกันจนกระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืน เมื่อตั้งเป็น สมาคมฯ ขึ้นมาแล้ว ทุกคนก็ลงความเห็นว่า… มันก็ต้องมีกิจกรรมระหว่างนั้นก็มีการพยายามทำความเข้าใจกันอยู่เรื่อย ๆแม้ในกลุ่มพวกเรากันเองที่เป็นผู้จัดตั้งก็ตามจนกระทั่งคิดว่าเราจะมาทะเลาะกันอีกไม่ได้ ผมก็เลยเอาขันมาตั้งแล้วเอาเหล้าใส่ไปในนั้นเอามีดจุ่มลงไปแล้วให้ทุกคนดื่มเหล้าในขันคนละอึก.! และกล่าวกันว่า… ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ต่อสมาคมโฆษณาแล้ว ก็ขอให้มัน…ตายไปอะไรทำนองนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการผูกพันทางจิตใจซึ่งมันอาจจะมากไปหน่อยหรือมันน้อยไป ผมก็ไม่แน่ใจแต่มันก็ได้ผลตามสมควร เมื่อสมาคมโฆษณาไปขอความช่วยเหลือจากบริษัทโฆษณาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี “คุณประโพธ กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์
หลังจากจดทะเบียนสมาคมฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณประโพธ ในฐานะหัวหลัก ในการริเริ่มก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยเป็นคนแรกและอยู่เพียง 1 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2509 - 2510 ซึ่งวาระของ การเป็นนายกสมาคมฯ ในขณะนั้นได้กำหนดไว้เพียง 1 ปี
จากนั้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ สืบเนื่องต่อกันมาคนละ 1 ปี จากปี พ.ศ. 2510 - 2519 คือ
1. คุณชลอ เทพวัลย์
2. คุณประสิทธิ์ ลุลิตานนท์
3. ม.ร.ว. เพ็ญพิไชย เพ็ญพัฒน์
4. ม.ร.ว. วิภากร ระพีพัฒน์
5. คุณสรรพสิริ วิรยศิริ
โดยส่วนใหญ่ นายกสมาคมฯ ทุกท่านในช่วงนี้จะถูกเลือกให้เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ซ้ำอีก 1 วาระ (ดูจากทำเนียบ นายกสมาคมโฆษณาฯ)
ในช่วงดังกล่าว สัญลักษณ์ของสมาคมฯไม่ได้เป็นรูปคนเป่าสังข์เช่นในปัจจุบัน แต่ใช้สัญลักษณ์ของลิง 3 ตัวขี่คอกัน ตัวแรกป้องตา ตัวที่สองป้องหู และตัวที่สามป้องปาก และได้ใช้สัญลักษณ์นี้เรื่อยมา จนกระทั่ง ถึงปีที่ 4 ซึ่งเป็นสมัย ของท่านนายกสมาคมฯ ม.ร.ว. เพ็ญพิไชย เพ็ญพัฒน์ คณะกรรมการจึงได้ลงมติ เปลี่ยนเป็นรูปสัญลักษณ์ เทวดาเป่าสังข์รูปมน และปรับเปลี่ยนมาเป็น เทวดาเป่าสังข์รูปเหลี่ยม จนถึงปัจจุบัน
“เรื่องตราสมาคมฯ นี้ เป็นความคิดวิตถาร คือ ผมมานั่งดูของฝรั่ง ลิงปิดตา ปิดหู ปิดปาก (SEE NO EVIL, HEAR NO EVIL, SPEAK NO EVIL) อะไรนี่ มันก็ดี และอยู่อย่างมีความสุขด้วย แต่นักโฆษณาทำอย่างนั้น ไม่ได้ นักโฆษณา จะต้องมอง เพราะฉะนั้น ลิงตัวแรกของผมจึงป้องตาเพื่อจะดูความเป็นไปในตลาด เพราะ ถ้าคุณไม่ดูคุณจะไม่รู้เลย ลิงตัวที่สอง ต้องฟัง คือป้องหูแทนที่จะปิดหู ต้องฟังความเป็นไป ฟังความเคลื่อนไหว อะไรก็แล้วแต่ และสามคุณต้องพูด นักโฆษณาไม่พูดไม่ได้ ผมจึงตั้งสัญลักษณ์อันนี้ขึ้นมา คือลิงขี่คอกันสามตัว ใช้กันตั้งพักใหญ่นะ..
แต่ทีนี้หลายคน พูดว่า มันขัดกับความรู้สึก ผมก็ถามว่ามันขัดกับความรู้สึกยังไง ขัดความรู้สึกของฝรั่ง ก็ช่าง มันปะไร ก็นักโฆษณา ต้องเป็นอย่างที่ผมพูดนี่แหละ มันเข้าท่าดีเหมือนกัน แล้วในที่สุดเมื่อมาถึงสมัยของ หม่อมเจ้าเพ็ญพิไชย เป็นนายกสมาคมฯ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปคนเป่าสังข์ แล้วก็ใช้กันมาจนถึง ปัจจุบัน“ บทสัมภาษณ์ ของอดีต นายกสมาคมฯ คนแรก ที่ให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกัน