ETHIC

จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา

AAT Regulation


ข้อ 1.


สมาคมนี้ให้ชื่อว่า "สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย" มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า "Advertising Association of Thailand" มีเครื่องหมายเป็นภาพสังข์ และมีตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “AAT” สำนักงานตั้งอยู่ ณ เลขที่ 12/14 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว จตุจักร กรุงเทพมหานคร


ข้อ 2.


สมาคมนี้เป็นสมาคมวิชาชีพ มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. ผดุงเกียรติ สร้างความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันในระหว่างสมาชิก
  2. แลกเปลี่ยนความรู้ในระหว่างสมาชิก ติดต่อประสานงานกับสถาบันการโฆษณา สถาบันสื่อโฆษณา ได้แก่ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่ออื่น ๆ รวมทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งใน และ ต่างประเทศ
  3. เผยแพร่คุณค่าของการโฆษณา ติดต่อจัดให้มีการหารือ ประสานงาน เพื่อประสิทธิภาพของงาน โฆษณา และให้คำแนะนำ ทางการโฆษณา ตามความต้องการของสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งให้บริการข้อมูลข่าวสารจากการประกอบวิชาชีพโฆษณาเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  4. เพิ่มพูนมาตรฐานในวิชา อาชีพ และจริยธรรมโฆษณา
  5. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคจากการประกอบวิชาชีพโฆษณา
  6. ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในวิชาชีพโฆษณา และสมาคมนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ข้อ 3. สมาชิกของสมาคมมี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

  1. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรด้วยมติ 2 ใน 3
  2. สมาชิกสามัญได้แก่สมาชิกเป็น

    ก. บุคคลผู้ปฏิบัติงานในบริษัทโฆษณา

    ข. บุคคลในแผนกโฆษณาของบริษัทหรือห้างร้านและอื่น ๆ

    ค. บุคคลซึ่งเป็นคนกลางในการติดต่อหาโฆษณา

    ง. บุคคลในแผนกรับโฆษณาของสื่อมวลชน

    จ. บุคคลผู้ประดิษฐ์สิ่งโฆษณา

    ฉ. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและวิชาชีพโฆษณา

  3. สมาชิกสถาบันได้แก่สมาชิกที่เป็นบริษัทโฆษณา บริษัทห้างร้านผู้ประดิษฐ์วัสดุที่ใช้ใน การโฆษณา หรือบริษัทและสถาบันอื่นๆ ที่คณะกรมการบริหารเห็นสมควร
  4. สมาชิกสมทบ คือบุคคลภายนอก นอกเหนือไปจากที่ระบุไว้แล้ว และคณะกรรมการบริหาร เห็นสมควร
  5. ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในวิชาชีพโฆษณา และสมาคมนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ข้อ 4. การเข้าเป็นสมาชิก

  1. ผู้สมัครต้องแสดงความจำนงต่อเลขาธิการ โดยกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์ของสมาคม และมีสมาชิกสามัญรับรองไม่น้อยกว่า 2 นาย เว้นแต่สถาบันที่สมัครเป็นสมาชิก ไม่ต้องมี ผู้รับรอง
  2. ผู้สมัครจะต้องผูกพันตนตามข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการกำกับดูแลตนเองของนักวิชาชีพโฆษณาแห่งประเทศไทย
  3. เมื่อคณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควร จะรับเป็นสมาชิกได้ให้ประกาศนามผู้สมัครนั้นไว้ ณ สำนักงานของสมาคม ถ้าไม่มีสมาชิกผู้ใดคัดค้านภายในกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ เป็นต้นไปเลขาธิการจะแจ้งให้ผู้สมัครทราบว่าสมาคมได้รับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่ผู้สมัครจะ เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อได้ชำระเงินค่าบำรุง ตามข้อบังคับของสมาคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบเป็นต้นไป ในกรณีที่สมาชิกคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการ อำนวยการพิจารณาใบสมัครอีกครั้งหนึ่ง มติของคณะกรรมการ ครั้งที่ 2 นี้ ให้ถือเป็นเด็ดขาด หากคณะกรรมการอำนวยการพิจารณาเห็นว่ายังไม่ควรจะรับเข้าเป็นสมาชิก เลขาธิการจะแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
  4. ผู้สมัครคนใดที่คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาเห็นว่ายังไม่สมควรจะรับไว้เป็นสมาชิก จะขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีก ในปีเดียวกันไม่ได้

ข้อ 5. ค่าบำรุงสมาชิก

  1. สมาชิกสามัญจะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 500 บาท ค่าลงทะเบียนครั้งแรก 50 บาท
  2. สมาชิกสามัญตลอดชีพ ค่าบำรุงสมาชิกครั้งเดียว 5,000 บาท ค่าลงทะเบียนครั้งแรก 50 บาท
  3. สมาชิกสถาบันจะต้องเสีย ค่าบำรุงปีละ 8,000 บาท ค่าลงทะเบียนครั้งแรก 50 บาท

ข้อ 6. สิทธิของสมาชิก

  1. สมาชิกทุกประเภท มีสิทธิเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงกิจการของสมาคมฯ แต่การ ออกเสียงใด ๆ ของ สมาคมจะออกเสียงลงคะแนนได้เฉพาะ สมาชิกสามัญและสมาชิกสถาบันเท่านั้น
  2. สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิได้รับ เอกสารเผยแพร่ความรู้และกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
  3. สมาชิกทุกประเภทและแขกของสมาชิกมีสิทธิใช้สถานที่ หรือสโมสรของสมาคม ตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้
  4. สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิได้รับสิทธิพิเศษตามที่สมาคมได้กำหนดไว้
  5. สมาชิกจะใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น ได้ต่อเมื่อได้ชำระค่าบำรุงสมาชิก ตามข้อบังคับของสมาคมแล้ว

ข้อ 7.

การโฆษณาทุกชิ้นจะต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดี และระเบียบสังคมในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณะชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณา

  1. ประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักปฏิบัติและวิชาการ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย
  2. ไม่ทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
  3. มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียในจริยธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
  4. ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันเป็นการดูหมิ่นเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ หรือสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไป
  5. ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันทำให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับ สินค้า บริการ การแสดง หรืออื่นๆ หรือโอ้อวดสรรพคุณจนเกินความจริงจนทำให้ผู้เห็นหรือผู้ฟังเกิดความสำคัญผิด
  6. ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยใช้ความเชื่อถือเกี่ยวกับไสยศาสตร์ หรือเรื่องโชคลางมาเป็นข้อจูงใจ
  7. ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยการเลียบแบบเครื่องหมายการค้า คำขวัญ, ข้อความสำคัญ หรืออื่น ๆ จากการโฆษณาของผู้อื่น อันทำให้ผู้อื่นเห็น หรือผู้อื่นได้ยินเกิดความเข้าใจผิดหรือไขว้เขวเกี่ยวกับสินค้า บริการ หรือการแสดงของผู้อื่น
  8. ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยใช้ศัพท์สถิติ ผลการวิจัย หรืออ้างอิงรายงานทางวิทยาศาสตร์ในทางที่ไม่สมควร หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยที่สินค้านั้นไม่มีคุณสมบัติตามที่อ้าง
  9. ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยอ้างถึงตัวบุคคล หรือสถาบัน โดยที่ตัวบุคคล หรือสถาบันนั้นไม่มีตัวตนอยู่จริงและไม่ได้ใช้สินค้าและบริการ หรือชมการแสดงนั้นจริง
  10. ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันอาจมีผลเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือผู้เยาว์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือทำให้ขาดความรู้สึกผิดชอบ หรือโดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจโดยไม่สมควร

ข้อ 8. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกจะขาดจากสมาชิกภาพเมื่อ

  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการกำกับดูแลตนเองของนักวิชาชีพโฆษณาแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการบริหารมีมติเห็นสมควรให้ขาดจากสมาชิกภาพ
  4. มติคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควรให้ขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ 9. การเปลี่ยนประเภทสมาชิก

สมาชิกสามัญ และสมาชิกสมทบอาจจะเปลี่ยนซึ่งกัน และกันได้ในเมื่อได้มีการเปลี่ยนอาชีพ และได้แจ้งให้ คณะกรรมการทราบ

ข้อ 10. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนไม่เกิน 15 คน ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้

  1. นายกสมาคม
    ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมคณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมให้การติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม เป็นผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือสำคัญและเอกสารต่างๆของสมาคม
  2. อุปนายก
    ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำแทน
  3. เลขาธิการ
    ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
  4. เหรัญญิก
    มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชี รายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
  5. ประชาสัมพันธ์
    มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
  6. สาราณียกร
    มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำวารสารและหนังสือในโอกาสต่างๆของสมาคม
  7. นายทะเบียน
    มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
  8. ปฏิคม
    มีหน้าที่เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ และประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม
  9. กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
    ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับกำหนดไว้แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

ข้อ 11. นอกเหนือจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการ อาจแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการชุดอื่น ๆ ขึ้นปฏิบัติงาน ได้ตามความเห็นชอบ และอาจเชื้อเชิญ บุคคลภายนอก หรือสมาชิก ซึ่งเห็นสมควร ตั้งขึ้น เป็นกรรมการที่ปรึกษาไม่จำกัด จำนวน รวมทั้งแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำ ของสมาคมได้ด้วย

ข้อ 12.

  1. การเลือกตั้งนายกสมาคมให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ คือ เลือกจากสามัญสมาชิก ด้วยวิธีเสนอชื่อ มีสามัญสมาชิกรับรองอย่างน้อย 7 นาย ผู้ได้คะแนนสูงสุด ถือว่าได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม
  2. การเลือกตั้งกรรมการบริหารให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ คัดเลือกจากสามัญสมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหาร ด้วยวิธี เสนอชื่อ มีสามัญสมาชิกรับรองอย่างน้อย 5 นาย ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด และลดหลั่นลงมาตามลำดับ ถือว่าได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของสมาคม ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ให้เป็นสิทธิของนายกที่จะแต่งตั้งจากสามัญสมาชิก
  3. ตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการบริหาร (หมวด 4) ให้กรรมการที่ได้รับเลือกตั้ง และแต่งตั้งพิจารณาตั้งกันเอง

ข้อ 13.

  1. คณะกรรมการบริหารสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี นับตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งซึ่ง เท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมดำรงตำแหน่งอยู่
  2. นายกสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 วาระ (6 ปี)
  3. คณะกรรมการบริหารจะสิ้นสุดสภาพ

    ก. ถึงคราวออกตามวาระ

    ข. ตาย

    ค. ลาออก

    ง. ขาดสมาชิกภาพ

    จ. ที่ประชุมใหญ่ออกด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกซึ่งเป็นองค์ประชุม

1. การประชุมคณะกรรมการบริหาร


ข้อ 14. คณะกรรมการบริหารของสมาคม จะต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชุมภายในเดือนแรกที่ได้รับแต่งตั้ง ต่อจากนั้นให้นายก และเลขาธิการเป็นผู้กำหนดนัดหมาย

ข้อ 15. การประชุมของคณะกรรมการบริหาร จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ จึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 16. มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการเป็นหลัก หากมีเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

2. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี


ข้อ 17. คณะกรรมการบริหารของสมาคม จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ของสมาคม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อ

  1. พิจารณากิจการและรับรองฐานะการเงิน ของสมาคมในรอบปีที่แล้ว
  2. เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
  3. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ เมื่อครบกำหนดตามข้อ 13 และ
  4. เรื่องอื่น ๆ

ข้อ 18. คณะกรรมการบริหารของสมาคม จะต้องเป็นผู้กำหนดวันเวลา สถานที่และระเบียบวาระการประชุม โดยให้เลขาธิการของสมาคม แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน

ข้อ 19. การตัดสินปัญหาใด ๆ ในการประชุมสมาชิกให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมเป็นหลัก ในกรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 20. การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกประชุม ไม่น้อยกว่า 20 คน จึงจะถือเป็นองค์ประชุม


3. การประชุมใหญ่พิเศษจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อ


ข้อ 21.

ก. คณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะเรียกประชุมใหญ่พิเศษ

ข. สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน มีสิทธิร้องขอให้นายกสมาคม เรียกประชุมใหญ่พิเศษ แต่ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุลงไปว่าจะให้ประชุมใหญ่พิเศษในเรื่องใด เมื่อนายกได้รับหนังสือร้องขอแล้วต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่พิเศษ ภายในกำหนด 30 วัน

ข้อ 22.

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในกรณีใด ๆ ก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากที่ประชุมใหญ่โดยมติ 2 ใน 3

ข้อ 23.

เมื่อเลิกสมาคม ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่จากที่ได้ชำระบัญชีแล้วให้มอบ หรือโอนทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่กุศลสาธารณะที่เป็นนิติบุคคลตามที่ที่ประชุมใหญ่ หรือสมาคมจะเห็นสมควร